โรมาเนีย
ดินแดนแห่งท่านเคาน์แดร็กคูร่า
“กาลครั้งหนึ่งนานแล้ว มีเรื่องเล่าขานกันว่า ณ คฤหาสน์เก่าแห่งหนึ่งในแคว้นทรานซิลวาเนีย มีท่านเคาน์ผู้มีอายุยืนยาวกว่าสามศตวรรษเป็นผู้ปกครองแคว้นแห่งนี้อยู่ กล่าวกันว่าบรรยากาศของปราสาทที่ผู้ครองแคว้นแห่งนี้ช่างวังเวงระคนความสยองขวัญ แขกผู้มาเยือนที่ปราสาทจะได้พบกับสาวงามในยามวิกาลที่แสนจะยั่วยวนใจ แต่ในวินาทีสุดแห่งชีวิตอาจจะเพิ่งมาตระหนักได้ว่าตนได้ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของท่านเคาน์และเหล่าบริวารเสียแล้ว เรื่องของท่านเคาน์แดร็กคูล่าผู้กระหายเลือดจะเป็นแค่เรื่องที่แต่งขึ้นหรือจะเป็นเรื่องจริงจากตำนานกันแน่นั้น เป็นปริศนาที่ทำให้ผู้มาเยือนดินแดนโรมาเนียแทบทุกคนปรารถนาที่จะได้ทราบคำตอบ พร้อมๆกับอีกหลายคำถามในใจว่าดินแดนที่ลึกลับแห่งนี้ยังมีอะไรที่ซ่อนไว้ให้ค้นหาอีกไหมหนอ”
วันแรกของการเดินทาง บูคาเรสต์-ชมเมือง-ลานปฎิวัติสงคราม-รัฐสภาโรมาเนีย
เมืองหลวงของประเทศโรมาเนียชื่อว่าอะไรเอ่ยระหว่าง บูคาเรสต์ หรือว่า บูดาเปสต์? หลายคนตอบอย่างมั่นใจว่า “บูดาเปสต์” ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิดค่ะ กรุงบูดาเปสต์เป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศฮังการี ซึ่งเราอาจจะคุ้นหูมากกว่าเพราะวงดนตรีฮิปฮอบชื่อดังวงหนึ่งของบ้านเรายืมชื่อเมืองนี้มาใช้เป็นชื่อวงดนตรี ดังนั้นทุกท่านก็เข้าใจตรงกันแล้วว่า เรากำลังอยู่ที่ “กรุงบูคาเรสต์” (Bucharest) ซึ่งเป็นชื่อของเมืองหลวงประเทศโรมาเนียกันนะคะ บรรยากาศในเมืองบูคาเรสต์เป็นอย่างไรนั้น อยากให้ท่านลองนึกถึงบรรยากาศในประเทศยุโรป และประเทศที่มีความใกล้เคียงกันที่สุดก็คงจะเป็นมหานครปารีสที่แสนจะน่ารักและสง่างาม การที่ใครต่อใครพากันอ้างอิงว่ามีความคล้ายคลึงกันนั้นก็คงเป็นเพราะว่าภูมิประเทศของเมืองบูคาเรสต์ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยเทือกเขาที่ทะเลสาบน้อยใหญ่จำนวนมากมายนั่นเอง นครแห่งนี้จึงได้รับสมญานามว่า “เมืองปารีสน้อย (Little Paris)”
สิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความเป็นนครปารีสขนาดย่อมก็คือ ประตูชัยที่ตั้งอยู่บนถนน Kisseleff ที่มีหน้าตาราวกับเป็นฝาแฝดกับประตูชัยที่นครปารีส เพียงแต่มีขนาดย่อมกว่า ประตูชัยแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ความกล้าหาญและการพลีชีพของทหารชาวโรมาเนียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การชมเมืองของเราดำเนินไปอย่างตื่นตาตื่นใจ เมืองบูคาเรสต์ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีสถาปัตกรรมสไตล์ยุโรปเก่าแก่ที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะได้ผสมผสานสถาปัตยกรรมของประเทศในยุโรปที่แสนจะร่ำรวยด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอย่างเช่น เยอรมัน ฮังการี ฝรั่งเศสไว้ได้อย่างลงตัว
และแล้ว... รถนำเที่ยวชมเมืองของเราก็พาเราไปยังบริเวณถนน Calea Victories (Victory Avenue) ซึ่งถือได้ว่าเป็นถนนสายที่เก่าแก่และสง่างามที่สุดในนครหลวงแห่งนี้ ถนนแห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ลานปฎิวัติสงคราม (Revolution Square) ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยอาคารที่มีความสำคัญคือ สำนักงานใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ CEC (CEC Headquarter) ที่ท่านผู้นำคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีนิโคลัส เชาเชสกู (Nicolae Ceauşescu) ได้กล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต และถัดออกไปไม่ไกลนักก็จะเป็นสโมสรทหาร (Military Club) และ โรงละครแห่งชาติของโรเนีย (The Romanian Athenaeum ) ที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศสชื่อดัง “ Albert Galleron” จึงทำให้โรงละครแห่งนี้ดูสง่างามแบบฝรั่งเศสและยิ่งใหญ่แบบโรมัน ภายในด้านอาคารประดับดาด้วยใบไม้ทองที่เกี่ยวพันกันดูคล้ายกับสร้อยคอเพชร
เราจบการเดินทางวันแรก ณ นครบูคาเรสต์ด้วยการไปเยี่ยมชมรัฐสภาโรมาเนีย (Palace of Parliament) และทำเนียบของท่านประธานาธิบดีเชาเชสกู ที่ปรารถนาใช้ชีวิตอย่างหรูหราโอ่อ่าจนได้สร้างอาคารรัฐสภาโรมาเนียแห่งนี้อย่างวิจิตรและใหญ่โตเป็นอันดับสองของโลกรองมาจากอาคารรัฐสภาของประเทศสหรัฐอเมริกา มีห้องมากถึง 6,000 ห้อง สิ่งที่ไม่ควรพลาดในการชมก็คือ ห้องแกรนด์บอลลูมที่ประดับประดาด้วยโคมไฟโบฮีเมียนที่หนักถึง 5 ตัน และพรมเปอร์เซียผืนใหญ่ ปัจจุบันห้องต่างๆในอาคารรัฐสภาแห่งนี้ก็ยังคงทยอยสร้างกันอยู่ และเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาจองใช้บริการห้องต่างๆเหล่านี้ในการประชุมได้ในสนนราคาที่สูงลิบ การเดินทางวันแรกช่างเต็มไปด้วยความน่าสนใจและแอบทึ่งไม่ได้ว่าประเทศเล็กๆในยุโรปตะวันออกอย่างโรมาเนียได้ซ่อนความยิ่งใหญ่ไว้ได้อย่างน่าเหลือเชื่อจริงๆ
วันที่สอง : บูคาเรสต์-โคเซีย-ซีบิว-ออแกนซิบุยลุย
เมื่อตื่นมาแล้วนั่งอ่านโปรแกรมการท่องเที่ยวก็ทำให้ต้องรีบตุนอาหารเช้าไว้เติมพลังล่วงหน้าเพราะวันนี้เราต้องไปท่องเที่ยวหลายแห่ง ทันทีที่รถแล่นออกจากนครบูคาเรสต์ก็ทำให้ได้เริ่มเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านโรมาเนีย ไกด์ท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่าชาวโรมาเนียต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบกษัตริย์มาอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวโรมาเนียตกอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างจำกัดและตึงเครียดมากทีเดียว ดังนั้นเมื่อมาถึงในยุคปัจจุบันที่โรมาเนียได้ค่อยๆก้าวออกมาสู่โลกเสรี การได้ออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศและได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อพักผ่อนตากอากาศจึงเป็นสุดยอดปรารถนาของชาวโรมาเนียทุกคน รวมทั้งไกด์ท่านนี้ที่มีบ้านพักตากอากาศถึงสองแห่ง ฟังแล้วยังอดอิจฉาไม่ได้ เมืองโคเซีย (Cozia) คือเมืองแรกที่เราได้ไปเยือน เราได้แวะไปชมโบสถ์โคเซีย (Cozia Church) เดิมโบสถ์แห่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 ด้วยไม้ แต่ถูกไฟไหม้จึงทำให้ต้องสร้างใหม่อีกครั้งด้วยอิฐที่มีลวดลายอันแสนจะวิจิตร นักบวชที่นี่คงคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีจึงทักทายและชักชวนให้เราไปตักน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์มาดื่ม มีหรือที่คนไทยอย่างเราๆจะพลาดที่จะตักตวงความโชคดีก่อนที่จะล่ำราโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
นั่งรถต่อไปไม่นานนัก เราก็มาถึงเมืองซีบิว (Sibiu) เมืองแห่งนี้มีจุดเด่นที่สถาปัตยกรรมแบบเยอรมันที่มีสีสันสวยงามแบบเมืองตุ๊กตาแถมยังมีปล่องระบายอากาศที่มีรูปร่างเหมือนกับดวงตาที่กำลังจ้องมองเราอยู่ นอกจากนี้เมืองซีบิวยังเป็นหนึ่งในเจ็ดของเมืองป้อมปราการที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เมืองมรดกโลกอีกด้วย สิ่งที่น่าตื่นเต้นของการที่ได้มาเยี่ยมชมเมืองซีบิวก็คือความรู้สึกผ่อนคลายที่ได้มาเที่ยวชมบ้านเมืองที่มีความสวยงาม และความตื่นเต้นที่ได้มาชมโบสถ์คริสต์ศาสนานิกายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบสถ์กลางเมืองซีบิว อันเป็นที่ตั้งของหลุมศพบุคคลสำคัญถึง 76 ศพ รวมไปถึงพระโอรสองค์หนึ่งของเจ้าชายวลาส เดเปล ผู้ซึ่งเป็นต้นตำนานของท่านเคาท์แดร็กคิวล่า หลังจากเที่ยวชมเมืองกันแล้วเราก็ไปแวะรับประทานอาหารค่ำที่เมืองออแกนซิบุยลุย ที่ยังคงลักษณะบ้านเรือนและวิถีชีวิตของชาวโรมาเนียแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่น่าเสียดายที่ค่ำแล้วเราจึงไม่ได้มีโอกาสชมเมืองได้มากนัก
วันที่สาม ออแกน ซิบุลลุย –เหมืองเกลือ –บราชอฟ-โพลน่า บราชอฟ
หลังจากการท่องเที่ยวที่แสนจะยาวนาน การเดินทางของเราก็เข้าใกล้ตำนานของท่านเค้าน์แดร็กคูล่าขึ้นทุกที แต่ก่อนที่เราจะไปเยือนบ้านของท่านเค้าท์ เราก็ได้ไปเที่ยวเหมืองเกลือที่เมืองใกล้เคียง ซึ่งต้องนั่งรถไฟใต้ดินดำดิ่งลงไป ว่ากันว่าการได้ไปสูดอากาศบริเวณเหมืองเกลือจะช่วยทำให้สุขภาพดี ที่เหมืองเกลือแห่งนี้จึงมีชาวโรมาเนียจำนวนมากที่พาลูกหลานมาเที่ยวเพื่อให้ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ที่นี่มีสนามเด็กเล่นและโบสถ์อยู่ด้วยเพื่อให้ใช้เวลาในเหมืองเกลืออย่างเพลิดเพลิน
ออกจากเหมืองเกลือ เราก็มุ่งหน้าไปยังเมืองบราชอฟ และ ไปเยือนหอนาฬิกาเป็นแห่งแรก ด้านบนของหอนาฬิกาจะมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามควรค่าแก่การไปถ่ายภาพไว้อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายลูกศรและระยะทางของเมืองหลวงต่างๆในยุโรปที่ตั้งอยู่ห่างจากหอนาฬิกาแห่งนี้ โดยคำนวณระยะทางเป็นกิโลเมตรแสดงไว้ด้วย เมื่อเสร็จจากการชมหอนาฬิกาและถ่ายภาพชมเมือง เราก็แวะไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านพักของท่านวลาสหรือท่านเค้าน์แดร็กคิวล่าในตำนาน ปัจจุบันนี้บ้านของท่านได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นภัตตาคารไปเสียแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดที่คงเหลือเค้าโครงเดิมไว้ ภายในอาคารถูกตกแต่งใหม่จนน่าเสียดาย
หลังจากได้ชมเมืองท่านเค้าท์แล้ว เราก็แวะไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อแวะซื้อครีมบำรุงผิวของดอกเตอร์ แอนนา อัสลาน เภสัชกรชาวโรมาเนียที่มีชื่อเสียงก้องโลกว่าได้ผลิตครีมที่ป้องกันริ้วรอยได้อย่างดีเยี่ยม โด่งดังขนาดที่ว่าผู้นำประเทศและนักการเมืองต่างๆทั่วโลกต่างล้วนเดินทางมาที่โรมาเนียเพื่อมาเข้าโปรแกรมดูแลรักษาผิวพรรณทุกปี ก่อนที่คณะของเราจะเข้าสู่ที่พักในเมืองโพลน่า บราชอฟซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหม่ที่ชาวยุโรปกระเป๋าสตังค์หนักนิยมเดินทางมาเล่นสกีกัน สนนราคาค่าใช้จ่ายที่นี่แพงยิ่งกว่าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มากทีเดียว แต่จะสวยงามหรือดีกว่าหรือไม่นั้น คงต้องลองพิสูจน์ด้วยการมาลองเล่นสกีที่นี่ในช่วงฤดูหนาว
วันที่สี่ โพลน่า บราชอฟ- บราชอฟ-บราน-ซินายา
เราตื่นตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อเดินทางไปยังเมืองบราชอฟซึ่งได้ชื่อมีว่ามีความสวยงามไม่แพ้กับเมืองในประเทศสวิตแซนด์แลนด์เลย ทันทีที่มาถึงเมืองแห่งหนึ่งนี้ ตรงใจกลางเมืองจะมีน้ำพุและร้านกาแฟที่ตั้งอยู่รายรอบ เหมาะที่จะนั่งเพื่อจิบกาแฟอย่างยิ่ง ที่ใจกลางเมืองแห่งนี้จะมี “Walking Street” หรือถนนคนเดินที่ชวนหลงใหลให้เดินชมสินค้าได้อย่างไม่รู้เบื่อ แถมยังมีนักดนตรีที่ผลัดกันมาเล่นดนตรีไม่ว่าจะเป็นเชลโล หรือ วงดนตรีขนาดเล็ก ที่ต่างช่วยสร้างสีสันให้กับเมืองแห่งนี้ได้ไม่แพ้กัน ด้วยความสวยงามน่าประทับใจ เมืองบราชอฟแห่งนี้จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “สวิสน้อยแห่งยุโรปตะวันออกออก”
หลังจากชมเมืองแล้ว เราจึงพากันไปเดินไปชมโบสถ์ดำ (Black Church) ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1383 สาเหตุที่ถูกเรียกว่าโบสถ์ดำก็เพราะว่าในอดีต เมืองแห่งนี้เคยถูกไฟไหม้ คราบดำจากเขม่าจึงไปเกาะที่ผนังโบสถ์จนเป็นสีดำทะมึน นอกจากโบสถ์ดำแล้วที่เมืองบราชอฟแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งแรกและโรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศโรมาเนียอีกด้วย
เมื่อเดินทางออกจากเมืองบราชอฟแล้วเราก็มุ่งหน้าไปสู่เมืองบราน (Bran) อันเป็นที่ตั้งของปราสาทบราน (Bran Castle) ที่เล่าขานต่อกันว่าเป็นปราสาทของ “ท่านเคาท์แดร็กคูล่า” ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 14 ตั้งอยู่บนภูเขาเพื่อป้องกันการรุกรานจากเขตชายแดนของแคว้นวาลาเคียและทรานซิลวาเนีย แต่ท้ายสุดแล้ว ปราสาทแห่งนี้เองนั่นแหละที่ได้กลายเป็นที่คุมขังของเจ้าชายวลาส เดเปล ผู้ที่ดำริสร้างปราทแห่งนี้เสียเอง
ชมปราสาทและถ่ายภาพกันแล้วก็ถึงเวลาช็อปปิ้งของพื้นเมือง ไกด์ท้องถิ่นชาวโรมาเนียแจ้งให้เราทราบว่าหากจะซื้อของฝาก ตลาดหน้าปราสาทบรานนี่แหละที่จะมีข้าวของให้เลือกซื้อมากที่สุดและสามารถต่อราคาได้เล็กน้อย หากต้องการจะซื้ออะไรก็ให้รีบซื้อที่นี่ เราจึงเสื้อยืดพิมพ์ลายแดร็กคูล่า ผ้าปักลายที่มีชื่อเสียง กระปุกแก้วใส่เกลือขัดผิวที่ย้อมสีสวยงาม เสื้อพื้นเมือง และของกระจุกกระจิกอย่างแม็กเน็ตติดตู้เย็น สมุดภาพ รูปปั้นเล็กๆ ติดไม้ติดมือกันไป
ก่อนที่รถจะพาเรามุ่งหน้าไปที่เมืองซินายาอันเป็นเมืองที่จะต้องพักแรมในคืนนี้ เราได้ไปแวะเมืองอาซูก้า ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทำไวน์ ได้ชมโรงบ่มไวน์และชิมไวน์ต่างๆ ของที่นี่ซึ่งรสชาติดีและราคาไม่แพง คณะของเราจึงได้ไวน์รสชาติเยี่ยมกันหลายขวด และตั้งใจว่าคืนนี้จะดื่มฉลองค่ำคืนสุดท้ายของการท่องเที่ยวที่ประเทศโรมาเนียกันเสียหน่อย
วันที่ห้า ซินายา-ซีนากอฟ-บูคาเรสต์-กรุงเทพฯ
วันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศโรมาเนีย แต่เราก็ยังไม่ได้รับคำเฉลยจากไกด์ท้องถิ่นแต่อย่างใดว่าเรื่องของท่านเคาท์แดร็กคูล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เธอบอกว่าไว้จบทริปแล้วจะเฉลย วันนี้เรารีบเดินทางแต่เช้าเพราะต้องรีบทำเวลาในการท่องเที่ยว มิฉะนั้นเดี๋ยวจะไม่ทันเวลาขึ้นเครื่องบิน เราเริ่มต้นการท่องเที่ยวในวันสุดท้ายที่ปราสาทเปเรส (Peles Castle) ซึ่งตั้งอยู่บนหุบเขาบูเซกิ ปราสาทแห่งนี้ถึงจะไม่ใหญ่โตเหมือนพระราชวังฤดูร้อนของประเทศอื่นๆในยุโรป แต่ความสวยงามแบบเรียบง่ายสไตล์เยอรมันของปราสาทแห่งนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราสาทอีกแห่งหนึ่งที่สวยที่สุดในโลก ไม่ใช่เพียงแค่ภายนอกอาคารเท่านั้นที่สวยงาม ภายในพระราชวังก็ล้วนตกแต่งไว้อย่างวิจิตรประณีต หลายท่านถึงกับรำพึงว่าสวยงามยิ่งกว่าพระราชวังแวร์ซายน์ที่ปารีสเสียอีก
เราเดินชมปราสาทจนถึงเวลาอันควรแล้ว เราก็รีบมุ่งหน้าต่อไปยังเมืองซีนาคอฟเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน และล่องเรือในทะเลสาบซีนาคอฟไปยังเกาะเล็กๆอันเป็นที่ตั้งของวิหาร และที่วิหารซีนาคอฟนี่เองคือที่ฝังพระศพของเจ้าชายวลาส เดเปล ท่านเคาน์แดร็กคูล่า เที่ยวกันถึงสถานที่สุดท้ายแล้ว ไกด์ของเราจึงยอมเฉลยว่าแท้จริงแล้วเรื่องท่านเคาน์ แดร็กคูล่าเป็นเพียงเรื่องนิยายที่ถูกแต่งขึ้นโดยอาศัยเค้าโครงมาจากเจ้าชายวลาส เดเปลเท่านั้น เจ้าชายท่านนี้ไดรับการเล่าลือว่าเป็นคนที่มีความโหดเหี้ยม เพราะท่านชอบนำศัตรู ข้าศึก หรือ นักโทษมาเสียบร่างกายทรมานจนตาย จนได้ชื่อว่าท่านวลาสจอมเสียบ ประกอบกับบรรยากาศของประเทศโรมาเนียก็ดูสวยงามแบบลึกลับจึงทำให้นักประพันธ์ชื่อดังอย่างบราม สโตเกอร์แต่งจินตนาการเรื่องราวผีดิบดูดเลือดโดยที่ตัวของเขาเองไม่เคยมาเยือนที่ประเทศโรมาเนียเลยด้วยซ้ำ ที่สำคัญชาวโรมาเนียเองก็เพิ่งมารู้ภายหลังไม่นานมานี้นี่เองว่าประเทศของตนได้ถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองของผีดูดเลือด” แต่ดูทุกคนก็พออกพอใจที่นิยายเรื่องนี้นำรายได้การท่องเที่ยวมาสู่ประเทศอย่างมาก และคุณไกด์ก็ขอแก้ความเข้าใจกับพวกเราทุกคนว่าถึงแม้ท่านวลาส เดเปลผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของท่านแดร็กคูล่าจะโหดเหี้ยมไปสักหน่อย แต่สำหรับชาวโรมาเนีย เจ้าชายท่านนี้ก็ได้สร้างความร่มเย็นและนำความสันติสุขแก่ประชาชนชาวโรมาเนียในช่วงเวลาที่ท่านปกครองดินแดน ดังนั้นนิยายเรื่องแดร็กคูล่าก็เป็นเพียงแค่เรื่องที่เสริมแต่งเกินจริงให้น่าอ่านมากขึ้นเท่านั้นเอง
และแล้ว...เรื่องราวการเดินทางของเราก็จบลงพร้อมการคลี่คลายปริศนาท่านเคาท์แดร็กคูล่าและความประทับใจดินแดนโรมาเนียที่สวยงามและลึกลับจนทำให้แอบหวังไม่ได้ว่าสักวันหนึ่งคงจะมีโอกาสได้กลับมาเยือนดินแดนแห่งนี้อีก
อาหารโรมาเนีย
อาหารโรมาเนียมีลักษณะหรือรสชาติเด่นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่จะอธิบายได้อย่างเด่นชัด เพราะมีความหลากหลายที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมอาหารของหลายชนชาติที่มีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างอาหารบัลกันหรืออาหารกรีก นอกจากนี้ยังมีอาหารเยอรมัน เซอร์เบียน และฮังกาเรียนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ อาหารโรมาเนียถือได้ว่าทำยากเพราะว่ามีวัตถุดิบที่หายาก อาหารส่วนใหญ่ของชาวโรมาเนียจะทำจากเนื้อหมูและไก่ นอกจากนี้ก็จะมีพวกพริกหวานยัดไส้ พุดดิ้งข้าว เนื้อก้อนชุปเกล็ดขนมปังทอดเป็นต้น ส่วนของหวานก็จะมีแพนเค้กเนื้อบางและโดนัทไส้แยม เค้กกาแฟที่เรียกว่า Chec ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คอทองแดงทั้งหลายต้องไม่พลาดท้าพิสูจน์คือ ตุยก้า เหล้าพลัมที่มีดีกรีความแรงถึง 55-65 %เลยทีเดียว
* อากาศที่ประเทศโรมาเนียค่อนข้างจะแปรปรวน อาจจะหนาวมากในช่วงเช้าและค่ำๆ แต่จะเริ่มร้อนจึงเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะแก่การปรับเปลี่ยนหรือสวมใส่ได้ง่ายเมื่ออากาศเปลี่ยน
* ไม่ควรจะแลกเงินเลย์ซึ่งเป็นสกุลเงินของโรมาเนียไว้มากเพราะจะหาสถานที่ในการแลกคืนได้ยาก
โรมาเนียเป็นประเทศที่เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี แต่ราวๆปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนกรกฎาคม และ ปลายเดือนสิงหาคม-ปลายเดือนตุลาคม เป็นที่ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวที่สุดเพราะอากาศกำลังสบาย ช่วงหน้าร้อนอากาศจะร้อนจัดมาก และหนาวจัดในช่วงหน้าหนาวเช่นกัน แต่หากต้องการจะมาเล่นสกีแนะนำให้มาช่วงเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนเมษายน
สามารถเช็คช่วงเทศกาลของประเทศโรมาเนียที่น่าสนใจในแต่ละเดือนได้ที่ http://www.romaniatourism.com/festivals.html
สินค้าของฝากที่น่าซื้อคือ ผ้าปักลาย แก้วเจียรไนย เสื้อพื้นเมือง เกลือขัดผิว และครีมบำรุงผิวของดร. แอนนา อัสลาน โดยมากแล้วสินค้าแต่ละประเภทมักจะไม่ขายในร้านเดียวกัน ต้องไปแหล่งหรือร้านที่ขายสินค้านั้นโดยเฉพาะ แต่อาจจะพอหาซื้อของพื้นเมืองที่อาจปะปนอยู่กับสินค้าพื้นเมืองของฝากตามบริเวณสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ได้หาซื้อได้ง่ายนัก ดังนั้นหากท่านพบสินค้าที่ต้องการก็ไม่ควรลังเลที่จะซื้อเพราะอาจจะไม่มีโอกาสได้ซื้ออีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางกับคณะทัวร์ซึ่งมีระยะเวลาที่จำกัดในการช็อปปิ้ง หากท่านต้องการซื้อสินค้าชนิดใดเป็นพิเศษ อาจจะสอบถามร้านขายสินค้านั้นๆจากทางโรงแรม หรือหากไปกับคณะทัวร์อาจจะแจ้งความจำนงค์ให้กับไกด์ได้ทราบเผื่อจะสามารถจัดเวลาให้ท่านสามารถซื้อสินค้าที่ท่านและคณะฯต้องการได้
การเดินทางไปประเทศโรมาเนียที่สะดวกที่สุดจากกรุงเทพฯ คือการเดินทางด้วยสายการบินเกอร์ติชแอร์ไลน์ไปลงที่สนามบินนานาชาติอาร์ตาเติร์กนครอิสตันบูล และเดินทางต่อจากนครอิสตันบูลไปยังประเทศโรมาเนีย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thy.com
สามารถศึกษาและสำรองที่พักในประเทศโรมาเนียได้ที่ http://www.romaniatourism.com/hotels/index.asp
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น